หน้ากากอนามัยใช้แล้วอาจมีสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะปนเปื้อนอยู่ ซึ่งถือเป็นขยะติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับคนที่สัมผัสได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยเฉพาะพนักงานเก็บขยะซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค ควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาดก่อนถอดหน้ากากอนามัย
2. ใช้มือทั้งสองข้างจับที่สายรัด แล้วดึงหน้ากากอนามัย โดยดันออกไปด้านหน้าเป็นแนวตรง ไม่ใช้มือสัมผัสด้านหน้าของหน้ากากอนามัย
3. ทำตำหนิหน้ากากอนามัยก่อนทิ้ง เช่น ใช้กรรไกรตัด เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้ใหม่
4. จับที่ขอบหน้ากากแล้วพับครึ่งเก็บส่วนที่สัมผัสร่างกายให้อยู่ด้านใน
5. พับครึ่งอีก 2 ทบ ให้เชือกทั้ง 2 ฝั่งอยู่ด้านเดียวกัน แล้วใช้เชือกพันรอบหน้ากากมัดให้แน่น
6. ใส่ถุงรองรับ (แยกจากขยะชิ้นอื่น) แล้วมัดปากถุงให้แน่น แต่สำหรับผู้มีความเสี่ยงต้องแยกสังเกตอาการ ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยลงในถุง 2 ชั้น แล้วราดน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ 5%) ก่อนมัดปากถุงให้แน่น
7. เขียนกำกับบนถุงว่าขยะติดเชื้อ
8. ทิ้งหน้ากากอนามัยลงถังขยะติดเชื้อ
9. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่นาน 20 วินาที หรือถ้าไม่สะดวกให้ใช้แอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือโดยทันที
ไม่ควรทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ขวดพลาสติก (ขวด PET) เนื่องจากสื่อ Social Media มีการแนะนำให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วลงในขวดพลาสติก ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เพราะขวดพลาสติกเป็นขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยการดึงเอาขยะภายในขวดออกให้หมด และนำขวดเปล่าไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล อาจทำให้คนเก็บของเก่าหรือพนักงานเก็บขยะมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ นอกจากนั้น หากขวดพลาสติกดังกล่าวถูกนำกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุน้ำดื่มอีก ก็คงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะทราบได้ว่าเคยถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วมาก่อน
ดังนั้น หากจะทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ควรทิ้งตามคำแนะนำข้างต้น และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสหน้ากากอนามัยหรือขยะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
|